คณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ได้ดำเนินการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ประจำรอบปีการศึกษา 2563 ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – 28 มิถุนายน 2564 ได้ทำการศึกษาข้อมูล ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และผลการดำเนินงานของหลักสูตร จากรายงานผลการดำเนินงานของหลักสูตร (SAR) ประจำปีการศึกษา 2563 เกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดในคู่มือการประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย พบว่า หลักสูตรเป็นไปตามมาตรฐาน มีคุณภาพในระดับ ดี (คะแนนเฉลี่ย 3.69)
องค์ประกอบที่มีระดับคุณภาพอยู่ในระดับ ดีมาก จำนวน 2 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 2 ด้าน บัณฑิต (คะแนนเฉลี่ย 4.50 คะแนน) และองค์ประกอบที่ 4 อาจารย์ (คะแนนเฉลี่ย 4.33 คะแนน)
องค์ประกอบที่มีระดับคุณภาพอยู่ในระดับ ดี จำนวน 1 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 5 ด้าน หลักสูตร การเรียนการสอน การประเมินผู้เรียน (คะแนนเฉลี่ย 3.50 คะแนน)
องค์ประกอบที่มีระดับคุณภาพอยู่ในระดับ ปานกลาง จำนวน 2 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 3 ด้าน นักศึกษา (คะแนนเฉลี่ย 3.00 คะแนน) และองค์ประกอบที่ 6 ด้านสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ (คะแนนเฉลี่ย 3.00 คะแนน)
เมื่อพิจารณาเชิงระบบพบว่า ปัจจัยนำเข้ามีคุณภาพระดับ ดี (คะแนนเฉลี่ย 3.57 คะแนน) กระบวนการมีคุณภาพระดับ ดี (คะแนนเฉลี่ย 3.50 คะแนน) และผลผลิตมีคุณภาพระดับ ดีมาก (คะแนนเฉลี่ย 4.50 คะแนน)
จุดเด่น
อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรทุกท่านมีความตั้งใจ ทุ่มเทในการปฏิบัติงานแม้จะขาดทรัพยากรสนับสนุนทั้งด้านบุคลากรสายสนับสนุน ข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่ก็ได้พยายามจัดการเรียนการสอนและพัฒนานักศึกษา จนได้ผลลัพธ์ที่ดีจากอัตราการได้งานทำครบ 100% และนักศึกษามีเป้าหมายชัดเจนในการประกอบอาชีพทั้งสายวิชาชีพโภชนาการ และการประกอบอาชีพเชฟ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบวงกว้างต่อการศึกษาและการประกอบอาชีพ การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ดังนั้นควรจัดหาแหล่งฝึกประสบการณ์สนับสนุนการเรียนรู้ให้เพียงพอ และส่งเสริมจุดเด่นของนักศึกษาให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้านการประกอบอาชีพ
ข้อเสนอแนะในภาพรวมเพื่อการพัฒนาหลักสูตร
- การเขียนรายงานการประเมินตนเองควรระบุแนวทางการปรับปรุงระบบกลไกให้ชัดเจน
- ควรเตรียมการทำ MOU ร่วมกับแหล่งฝึกงานวิชาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพในอนาคต